
สำหรับพัฒนาการทางด้านร่างกายช้านั้น คือเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน แต่การเรียนรู้ของเด็กมักเกิดขึ้นตามลำดับเหมือนกัน เช่น เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มคลานได้ก่อนเดิน สามารถส่งเสียงได้ก่อนที่จะเริ่มพูดออกมาเป็นคำ หรือเด็กอายุ 18 เดือน ต้องเริ่มมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยใช้ท่าทาง หรือการเคลื่อนไหว โดยเด็กปกติจะเริ่มเรียนรู้ที่จะเดินได้ในช่วงอายุ 9–15 เดือน แต่หากอายุ 20 เดือนยังไม่สามารถเดินได้ อาจมีพัฒนาการด้านร่างกายช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป
วิธีสังเกตพัฒนาการด้านร่างกาย
- อายุ 1 เดือน: กำมือ อยู่ในท่าคว่ำมือได้
- อายุ 2 เดือน: ชันคอได้ประมาณ 30 องศา นำมือเข้ามาสู่แนวกลางลำตัว และสามารถคลายออกเมื่อเห็นสิ่งของได้
- อายุ 3–6 เดือน: เคลื่อนไหวแขน และมือทั้งสองข้างได้ กำมือหลวมได้ ชันคอได้มากขึ้น คอแข็งขึ้น เริ่มเอื้อมมือไปหยิบจับสิ่งของที่สนใจได้ และเริ่มทรงตัวท่านั่งได้ประมาณ 1 นาที
- อายุ 7–9 เดือน: เริ่มยกมือ และเท้ามาที่ปาก คลานได้ เปลี่ยนจากท่านอนคว่ำมาสู่ท่านั่งได้และนั่งได้มั่นคงขึ้น เริ่มพยายามจะเกาะเดิน และพยายามเขี่ยของชิ้นเล็ก ๆ เข้ามาอยู่ในฝ่ามือได้
- อายุ 10 เดือน: สามารถเกาะเดินเอง และหยิบจับสิ่งของได้
- อายุ 11–12 เดือน: ยืนเองได้ชั่วครู่
- อายุ 15 เดือน: เดินได้เตาะแตะ และคลานขึ้นบันไดได้
- อายุ 18–24 เดือน: วิ่ง เดิน และขึ้น – ลงบันได้
- อายุ 3–5 ปี: ยืนขาเดียว และกระโดดได้ทั้งขาเดียว และสองขา
สาเหตุที่ทำให้พัฒนาการด้านร่างกายของเด็กช้า ประกอบด้วยหลายปัจจัย ได้แก่
- จากโรคทางพันธุกรรม เกี่ยวข้องกับยีนที่เด็กได้รับสืบทอดมาจากพ่อและแม่ ซึ่งโรคทางพันธุกรรมเป็นความผิดปกติของโครโมโซม ส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางพัฒนาการ
- จากสภาพแวดล้อมก่อนคลอด เช่น การติดเชื้อ การได้รับสารพิษทางโภชนาการ และการเจ็บป่วยของมารดา โดยจะส่งผลต่อพัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์
- จากกระบวนการคลอด เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย ภาวะขาดออกซิเจน โครงสร้างภายในยังทำงานไม่สมบูรณ์เพียงพอ ส่วนหนึ่ง คือ สมอง และหลอดเลือดในสมองอาจทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด
- การเลี้ยงดูที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาการ การขาดสารอาหาร ผู้ปกครองมีเวลาน้อยในการดูแลเอาใจใส่ อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่แออัดถูกทอดทิ้ง หรือการถูกล่วงละเมิด ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมหลังคลอด ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก
ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
- เพื่อประเมินสาเหตุที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางพัฒนาการและวางแผนการรักษา กรณีภาวะเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย มีปัญหาสุขภาพทางกาย และการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา
- เพื่อส่งต่อแพทย์เฉพาะทางและสหวิชาชีพ (นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา นักแก้ไขการพูด) พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาการ และฝึกพัฒนาการด้านต่างๆ ร่วมด้วย
- ควรได้รับการดูแลโดยนักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัดพัฒนาการในเด็ก เพื่อปรึกษาด้านพัฒนาการและฝึกควบคุมการเคลื่อนไหว ให้ลูกน้อยเติบโตได้เหมาะสมกับวัย และเป็นประโยชน์สูงสุดในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยตามวัยเหมาะสม
บทความวิชาการโดย กบ.นัฐยา กันทวี
นักกิจกรรมบำบัดประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 น. - 20.00 น. วันเสาร์ 08.00 น.-16.00 น. *หยุดทุกวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
สอบถามเพิ่มเติม/นัดหมาย แผนกกายภาพบำบัด 0 5391 7570 ประชาสัมพันธ์ 0 5391 7563